แนะนำ 6 วิธีป้องกันไข้หวัด ฤดูกาลไหนก็ไม่ป่วย
“ไข้หวัด” อาการเจ็บป่วยที่มักพบได้ง่ายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนเป็นแล้วก็กลับมาเป็นอีกซ้ำ ๆ หลายครั้งตลอดปี ซึ่งจะพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว รวมถึงช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง แต่ละคนก็จะมีอาการมากหรือน้อยแตกต่างกันออกไป แต่ล้วนสร้างความรู้สึกไม่สบายกายและไม่สบายใจไม่แพ้กัน
สำหรับหลายคนที่เป็นกังวลเพราะมักป่วยเป็นไข้หวัดอยู่บ่อย ๆ ทำให้เสียสุขภาพ เสียเวลา และเสียโอกาสมากมายในการใช้ชีวิต ซ้ำร้ายยังต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการดูแลรักษาตนเอง วันนี้เรามีวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่มาแนะนำให้คุณดูแลตนเองและคนที่คุณรักกัน
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับไข้หวัด
เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไข้หวัดให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ อาการ และอันตรายจากไข้หวัด ก่อนที่จะไปดูวิธีป้องกันไข้หวัดกันดีกว่า
สาเหตุของไข้หวัด
โรคไข้หวัด มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีอยู่เกือบ 200 ชนิด และไวรัสส่วนใหญ่ หรือประมาณ 75-80% เป็นไวรัสที่มีชื่อว่า “ไรโนไวรัส (Rhinoviruses)” โดยเชื้อไวรัสเหล่านี้จะแฝงอยู่ในอากาศรอบ ๆ ตัวของเรา และเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ตา และปาก
นอกจากนี้ โรคไข้หวัดยังสามารถติดได้ หากมีการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดอยู่ก่อนแล้ว ทั้งยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไข้หวัด ไม่ว่าจะเป็นภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรืออยู่ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนั่นเอง
อาการของไข้หวัด
สำหรับอาการของไข้หวัดที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม ปวดศีรษะ รวมถึงมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 37-39 องศาเซลเซียส ทั้งยังอาจมีอาการปวดหู ปวดเมื่อยเนื้อตัว ระคายเคืองรอบดวงตาร่วมอยู่ด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะคงอยู่ในช่วง 3 วันแรก และจะค่อย ๆ บรรเทาลงจนหายเป็นปกติเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
ในระหว่างที่ป่วยเป็นไข้หวัด ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องหมั่นติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากพบอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ผู้ใหญ่
- มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกินกว่า 5 วัน
- กลับมามีไข้ซ้ำหลังจากไข้ลดลงแล้ว
- หายใจติดขัด หอบเหนื่อย
- เจ็บคอรุนแรง ปวดศีรษะ หรือปวดบริเวณไซนัส
เด็ก
- เด็กแรกเกิด-12 สัปดาห์ที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีไข้สูงติดต่อกันเกินกว่า 2 วัน
- อาการต่าง ๆ รุนแรงมากขึ้น
- ปวดหัวและไออย่างรุนแรง
- หายใจติดขัด มีเสียงหวีด
อันตรายจากไข้หวัด
อาการไข้หวัดจะรุนแรงและเป็นอันตรายมากขึ้น หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) ส่งผลให้น้ำมูกหรือเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว และเชื้อหวัดลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง จนทำให้เกิดอาการอักเสบแทรกซ้อนได้ โดยอาการที่มักพบบ่อย คือ
- ติดเชื้อที่หูชั้นกลาง ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดหู หากปล่อยไว้อาจทำให้แก้วหูทะลุได้
- กระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ติดเชื้อภายในโพรงไซนัส ทำให้เป็นไซนัสอักเสบได้
- ติดเชื้อภายในลำคอ จนทำให้เกิดอาการคออักเสบ เจ็บคอ และไอ
- เชื้อโรคกระจายมาที่หลอดลม และทำให้เกิดภาวะอักเสบ มีอาการไอเพิ่มมากขึ้น
- เชื้อโรคกระจายลงปอด ซึ่งเป็นระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง หากไม่รีบรักษาอาการจะรุนแรงและเป็นอันตรายมาก
ผลข้างเคียงจากการเป็นไข้หวัดบ่อย
การเป็นไข้หวัดบ่อยหรือเข้าข่ายเป็นโรคไข้หวัดเรื้อรัง อาจนำไปสู่โรคอื่นตามมา โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมชอบสั่งน้ำมูกแรง ๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไซนัส หรือส่งผลกระทบต่อประสาทการมองเห็นได้
วิธีการรักษาเมื่อเป็นไข้หวัดบ่อย
- หากมีไข้ ควรรับประทานยาลดไข้ ในปริมาณและตามระยะเวลาที่เอกสารกำกับยากำหนดไว้
- หากมีอาการไอ ควรดื่มน้ำอุ่น และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้ระคายเคืองคอ
- หากมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้รับประทาน
แนะนำวิธีป้องกันไข้หวัด
เมื่อรู้ถึงสาเหตุ อาการ และความรุนแรงของไข้หวัด รวมถึงวิธีการรักษาแล้ว ก็ถึงเวลาดูแลตนเองให้ปลอดภัยด้วยการปฏิบัติตามวิธีป้องกันไข้หวัด ดังนี้
รับประทานอาหารให้ครบหมู่
ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อรับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการบำรุงรักษาร่างกาย รวมถึงควรรับประทานวิตามินซีและซิ้งค์ ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำหน้าที่ต่อต้านและกำจัดเชื้อโรคในร่างกาย
ออกกำลังกายเป็นประจำ
ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30 นาที 3-4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย
พักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียด
ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ปล่อยให้ตนเองเครียดจนเกินไป จนนอนไม่หลับ และที่สำคัญ คือ ความเครียดยังขัดขวางการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอีกด้วย
รักษาสุขอนามัยของตนเอง
ควรรักษาความสะอาดของร่างกาย อยู่นอกบ้านก็ต้องล้างมือบ่อย ๆ กลับเข้าบ้านก็ต้องอาบน้ำชำระร่างกาย รวมถึงไม่ควรใช้สิ่งของส่วนตัวรวมกับผู้อื่น
ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี
เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ไข้หวัดธรรมดาจะกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรต้องไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน และเตรียมพร้อมรับมือกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ต่อไป
รับประทานวิตามินซีคู่กับซิ้งค์
วิตามินซีมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย แต่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อรับประทานควบคู่กับซิ้งค์ โดยในแต่ละวันร่างกายควรได้รับวิตามินซีอย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัม และซิ้งค์ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งถ้าเกรงว่าอาหารที่รับประทานไปจะให้สารอาหารทั้งสองชนิดในปริมาณที่ไม่เพียงพอ สามารถรับประทานอาหารเสริม เพื่อเพิ่มปริมาณของวิตามินซีและซิ้งค์ให้แก่ร่างกายได้
เห็นไหมว่าวิธีป้องกันไข้หวัดที่นำมาแนะนำกันนั้น สามารถทำตามได้ไม่ยาก เพียงต้องอาศัยความมีวินัยและความใส่ใจในการดูแลร่างกายของเรานั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง
- สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. โรคที่มากับฤดูหนาว ตอนที่ 1: ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 จาก https://www.pidst.or.th/A289.html
- โรงพยาบาลรามคำแหง. ไข้หวัด โรคที่เป็นได้ทุกฤดู. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 จาก https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1915
- โรงพยาบาลวิภาวดี. ไข้หวัด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา รู้ทันป้องกันได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 จาก https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/448
- โรงพยาบาลเพชรเวช. โรคไข้หวัด โรคของทุกคนทุกฤดูกาล. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 จาก https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Common_Cold_detail
- พบแพทย์. ความหมาย ไข้หวัด. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 จาก https://www.pobpad.com/ไข้หวัด
ระบบภูมิคุ้มกัน สิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ
โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของมนุษย์มีระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) ที่คอยช่วยในการป้องกันเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่าง ๆ ระบบภูมิคุ้มกันประกอบด้วยกลไกป้องกันสามประการหลัก ๆ คือ ระบบห่อหุ้มร่างกาย (Physical Barriers) เช่นผิวหนังและเยื่อบุ เซลล์เม็ดเลือดขาว และแอนติบอดี การมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งเริ่มต้นจากการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่และได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ จึงจำเป็นต่อสุขภาพและการทำงานของระบบต่าง ๆ ที่ซับซ้อนของร่างกาย โดยเราสามารถกินอาหารที่มีส่วนประกอบของซิ้งค์ควบคู่กับวิตามินซี ซึ่งจะกินตอนไหนก็ได้ เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันอย่างเพียงพอ
เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
ศึกษาข้อมูลจากบทความที่เป็นประโยชน์ได้ที่นี่