ชวนรู้จักอาการเมื่อขาดวิตามินดี และวิธีป้องกัน
รู้หรือไม่ “วิตามินดี” เป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายสังเคราะห์เองได้ เมื่อได้รับแสงแดดอ่อน ๆ อย่างเพียงพอ มีหน้าที่สำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูกและระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่มักอยู่ในห้องหรืออาคาร จึงทำให้ใช้เวลากับแสงแดดน้อยลง ส่งผลให้เสี่ยงต่อภาวะขาดวิตามินดี ที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะโรคกระดูก
ในบทความนี้ จะขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับสาเหตุและอาการเมื่อขาดวิตามินดี รวมถึงคำแนะนำการป้องกันที่สามารถทำได้ง่าย ๆ
วิตามินดี กับคุณประโยชน์ดี ๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม
วิตามินดี (Vitamin D) มีหน้าที่หลักช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการสร้างกระดูกและฟัน ช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกบาง (Osteopenia) และป้องกันโรคกระดูกพรุน (Qsteoporosis) นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันเชื้อโรคและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าสู่ร่างกาย
ประโยชน์ของวิตามินดี
- ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหาร
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว เพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยลดการอักเสบ ป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และลดความเสี่ยงมะเร็งบางชนิด
- ช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด ป้องกันภาวะซึมเศร้า ทำให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี
- ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)
รู้ทันภาวะขาดวิตามินดี
ภาวะขาดวิตามินดี (Vitamin D Deficiency) สามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ดังนี้
- การได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ เนื่องจากร่างกายสร้างวิตามินดีได้เมื่อผิวหนังได้รับการสัมผัสกับแสงแดด ดังนั้นการใช้ชีวิตอยู่ในที่ร่ม หรือพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงแสงแดด จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการขาดวิตามินดีได้
- การได้รับสารอาหารวิตามินดีที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโภชนาการไม่สมดุล
- โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โรคลำไส้เรื้อรัง โรคตับ โรคไต ที่ส่งผลต่อการดูดซึมวิตามินดี
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ทำให้รับหรือใช้ประโยชน์จากวิตามินดีได้น้อยกว่าปกติ
อาการเมื่อขาดวิตามินดี
ผลจากการขาดวิตามินดี ผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มของภาวะนี้ มักไม่มีอาการที่จำเพาะเจาะจง ส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่รุนแรง เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกระดูกและข้อ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บป่วยง่าย แผลหายช้า หรือผมร่วง แต่หากระดับวิตามินดีต่ำลงเรื่อย ๆ อาการจะรุนแรงมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติบางอย่างได้ เช่น หงุดหงิดง่าย เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ
ดังนั้น การวินิจฉัยภาวะพร่องวิตามินดีที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับไฮดรอกซีวิตามินดี 25(OH)D ในร่างกาย หากพบว่าร่างกายมีระดับวิตามินดีต่ำ จำเป็นต้องได้รับวิตามินดีเพิ่ม โดยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่เหมาะสม
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามินดี
- ผู้ที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดด เช่น คนทำงานในออฟฟิศ/ห้างสรรพสินค้า ผู้ป่วยติดเตียง
- ผู้สูงอายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพในการสร้างวิตามินดีของผิวหนังลดลง
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน มีไขมันสะสม มักเป็นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะการขาดหรือพร่องวิตามินดี
- ผู้ที่มีผิวสีเข้ม เนื่องจากเม็ดสีเมลานินหนาแน่น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดดของผิวหนังลดลง
แนวทางการป้องกันภาวะขาดวิตามินดี
ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ไข! สำหรับผู้ที่ยังไม่เผชิญภาวะขาดวิตามินดี สามารถเสริมสร้างวิตามินดีให้ร่างกายได้ง่าย ๆ โดยการรับแสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้า ซึ่งเป็นแหล่งวิตามินดีธรรมชาติ แนะนำให้ออกแดดในช่วงเช้า ประมาณ 15-20 นาที จำนวน 2-4 ครั้ง/สัปดาห์
นอกจากนี้ หากยังไม่รู้ว่าขาดวิตามินดีต้องกินอะไร ขอแนะนำอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ไข่แดง นม ชีส เนย เห็ด ไข่ปลา หรือการกินวิตามินดีเสริม โดยควรปรึกษาจากแพทย์ก่อน เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณวิตามินดีที่เหมาะสม
วิตามินดี เป็นอีกหนึ่งวิตามินตัวสำคัญที่ร่างกายต้องการ สำหรับคนที่ลองสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือมีสุขภาพร่างกายที่เข้าข่ายเสี่ยงภาวะขาดวิตามินดี สามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันได้ตามที่แนะนำในบทความนี้ หากไม่แน่ใจ ขอแนะนำให้เข้ารับปรึกษาจากแพทย์ เพื่อหาแนวทางการดูแลตัวเองที่เหมาะสมต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
- วิตามิน D ดีอย่างไร? ทำไมสำคัญกับร่างกาย. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 จาก https://www.sikarin.com/health/วิตามิน-d-ดีอย่างไร-ทำไมส
- ขาดวิตามินดี อันตรายหรือไม่ ควรป้องกันอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 จาก https://www.pobpad.com/ขาดวิตามินดี-อันตรายหรื
- Vitamin D : ดี และมีประโยชน์อย่างไร ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 จาก https://www.synphaet.co.th/vitamin-d-ดี-และมีประโยชน์อย่างไ/